กระบี่ เป็นจังหวัดที่อาชีพเกษตรและประมงช่วยสร้างรายได้สูง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางทะเลและการเติบโตด้านการท่องเที่ยว จึงมีการเติบโตของจำนวนผู้ประกอบอาชีพประมงอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติจากการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะขยะตกค้าง จากแห อวน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำประมงที่มีอายุในการใช้งานไม่นานนัก และไม่ได้จัดการอย่างเหมาะสมในพื้นที่ชายฝั่ง และในทะเล ซึ่งส่งผลต่อทัศนียภาพ เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล
มูลนิธิกระบี่ยั่งยืน เล็งเห็นถึงการลดปริมาณขยะสามารถบริหารจัดการได้จากต้นทางหรือบนชายฝั่ง โดยการลดปริมาณการเกิดขยะพลาสติกประเภทแหอวนในทะเลกระบี่ โดยการจัดการจากต้นทางผ่านการรับซื้อในรูปแบบธนาคารขยะ โดยนำทรัพยากรจากขยะส่งต่อให้ผู้รับซื้อ (Supplier) ที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านโครงการทะเลปลอด (เศษ) อวน (Net Free Seas) ดำเนินการโดยมูลนิธิ EJF และให้ราคาที่เป็นธรรมเพื่อดึงดูดการนำส่งขยะแหอวน และเข้ากองทุนชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการธนาคารได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งต่อให้ผู้ผลิตเพื่อแปรรูปหรือพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ ตามแนวทางการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม
TOCA ร่วมกับมูลนิธิกระบี่ยั่งยืน วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งบ้านไหนหนัง มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม ลงนามข้อตกลงร่วม MOU ในการดำเนินงานเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมกระบี่รีสอร์ท โดย TOCA จะใช้เครื่องมือ Waste Management System ในการบันทึกข้อมูลขยะจากการทำประมง เช่น แห อวนเก่า รวมถึงการจัดการขยะต่อเพื่อสะท้อนถึงการดำเนินงานนี้สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ฟุตปริ้น ช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้