คุณอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) ร่วมกับคุณศุภาดา ชัยวงษ์ ผู้แทนตลาด สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ หารือแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริม ecosystem ของเกษตรอินทรีย์ในอุตสาหกรรมไมซ์
วัตถุประสงค์ของ TOCA เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว โดยสมาคมจะทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและความวางใจในสินค้าอินทรีย์ และยังเป็นช่องทางตลาดของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยเครื่องมือ TOCA Platform ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการผลิตของเกษตรกรอินทรีย์ให้สามารถผลิตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำให้เกษตรกรเห็นภาพการผลิตเพื่อธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น และยังทำให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงแหล่งที่มาของผลผลิตอินทรีย์เพื่อความเชื่อมั่นในการบริโภค ทั้งด้านของ demand และ supply โดยมีข้อมูลของเกษตรกรที่ทำการผลิตแบบอินทรีย์เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงแหล่งที่มาของผลผลิตต่างๆ มีการบันทึกข้อมูลโดยเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรวบรวมข้อมูลของผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายสินค้าจากวัตถุดิบอินทรีย์ รายละเอียดสินค้า ราคา สัดส่วนของการใช้วัตถุดิบอินทรีย์ ตลอดจนสามารถสืบย้อนถึงแหล่งซื้อวัตถุดิบ โดยผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ฟรีเพื่อเปิดบัญชีผู้ใช้งานบนแอพพลิเคชั่นและสะสมคะแนน Earth Points จากการบริโภคสินค้าอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากเกษตรกรโดยตรง หรือใช้บริการร้านอาหารและสถานประกอบการที่อยู่บนแพล็ตฟอร์ม โดยทุก ๆ 25 บาทของการซื้อสินค้าอินทรีย์จะได้รับ Earth Points = 1 คะแนน
ความสำคัญของ Earth Points TOCA ได้พูดคุยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหลาย ๆ หน่วยงานเพื่อให้ Earth Points เป็นดัชนีชี้วัดกลางเพื่อสะท้อนกิจกรรมด้าน Sustainability ของผู้บริโภคหรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ SDG ที่หลาย ๆ องค์กรให้ความสำคัญในปัจจุบัน ในส่วนของ สสปน. เห็นชอบและอยู่ระหว่างการวางแนวทางทำงานร่วมกันต่อไป
นอกจากนี้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเชื่อมโยงฝั่งผู้ประกอบการร้านอาหารว่า ทางสสปน. ภาคเหนือ เคยทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างร้านอาหาร Good View All Day กับสหกรณ์เกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นปี 2564 ซึ่งขณะนั้น ทางร้านอาหาร Good View มีความต้องการจะทำเมนูอาหารอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง แต่ประสบปัญหาคือขาดวัตถุดิบที่จะป้อนให้ตามความต้องการ หากจะผลิตเองก็ขาดบุคลากรและความรู้ความชำนาญในการผลิต จึงเสนอแก่สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ว่าหากมีเกษตรกรรายใดที่ขาดพื้นที่การผลิตต้องการผลิตเกษตรอินทรีย์ ทางร้านยินดีสนับสนุนให้พื้นที่ผลิตฟรี และจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายนั้น ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย ในระหว่างการดำเนินงานเพื่อคัดสรรหาเกษตรกรที่สนใจ ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เสียก่อนจึงไม่ได้มีการดำเนินงานต่อเนื่อง ซึ่งกรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของฝั่ง demand และ supply ที่ยังไม่ตอบสนองซึ่งกันและกัน เป็นโจทย์งานสำหรับ TOCA จะสร้างสมดุลในจุดนี้ได้อย่างไร
โดยสสปน. เสนอ TOCA ได้มีโอกาสนำเสนอการดำเนินงานให้กับหน่วยงานภาคเอกชนที่มีเครือข่ายผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ ได้แก่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมภัตตาคาร ร้านอาหารและสถานบันเทิง สมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน รวมทั้งสร้างโอกาสในความเชื่อมโยงทางธุรกิจต่อไป โดยนัดหมายการประชุมผ่านช่องทางซูมออนไลน์ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565