จากการทำงานเชื่อมผู้ประกอบการ ผู้บริโภคซื้อสินค้าอินทรีย์จากเกษตรกรอินทรีย์ ผ่าน TOCA Platform จึงเกิดการประชุมร่วมกับกรรมการเครือข่าย PGS Organic Phuket และอาจารย์กิตติศักดิ์ จิตต์เกื้อ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ในการร่วมวางแผนโครงสร้างบริหารจัดการเครือข่าย การวางแนวทางการขับเคลื่อนและการเตรียมแผนเรื่องการอบรมผู้ตรวจแปลง ความเข้าใจเรื่องการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ และการใช้งาน TOCA Platform โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณืทำงานการขับเคลื่อนกลุ่มพีจีเอสสามพรานโมเดล ซึ่งสามารถใช้เป็นบทเรียนในการวางแผนได้ พร้อมแนะนำมุมมองด้านการตลาดของการขับเคลื่อนแบบรวมกลุ่ม และแนะนำการวางแผนขับเคลื่อนเครือข่ายด้วยพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์
ซึ่งพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีจำนวนผู้ประกอบการหรือตลาดรองรับสินค้าอินทรีย์อยู่เป็นจำนวนมาก การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของเครือข่ายสามารถทำได้ทั้งแนวทางการรวมตัวหรือการขายรายเดี่ยวเพียงแค่มีความโปร่งใส ความเชื่อมั่นของสินค้าให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้าเราได้ การทำ Branding ของกลุ่มการทำให้ PGS ของเครือข่ายเข้มแข็ง โปร่งใส และเชื่อมั่นได้ คือใจความสำคัญของการทำ Branding การทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางของข้อกำหนด PGS อย่างถูกต้องจะสร้างผลดีให้กับเกษตรกรและพื้นที่ได้ และเป็นเครื่องมือหนึ่งที่การันตีความเป็นอินทรีย์ให้กับสินค้าและทำให้เครือข่ายเกิดความเข้มแข็งได้
คณะกรรมการมีความเห็นพร้อมกันถึงการวางโครงสร้างการบริหารจัดการเครือข่ายให้เป็นแบบแผน เพื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันและยั่งยืน และเห็นว่า TOCA Platform จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อการบันทึกกิจกรรมฟาร์มสำหรับการเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ของเครือข่าย สามารถเรียกดูรายงานกิจกรรมออนไลน์ได้ ตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลที่ทำการบันทึกได้ รวมถึงยังเป็นช่องทางการตลาดของเครือข่ายในการเชื่อมผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้อีกด้วย คณะกรรมการจะนัดหมายเพื่อวางแผนโครงสร้างร่วมกันอีกครั้งเพื่อชี้แจงและขอความเห็นกับสมาชิกส่วนใหญ่อีกครั้ง