TOCA เปิดเวทีสัมมนาออนไลน์ แนะนำ ”เครื่องมือการประเมินความยั่งยืนขององค์กรที่พัฒนาระบบอาหารและเกษตรกรรม”

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทยได้มีการจัดงานสัมมนาออนไลน์เพื่อแนะนำ “เครื่องมือการประเมินความยั่งยืนขององค์กรที่พัฒนาระบบอาหารและเกษตรกรรม” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พัฒนามาจากเครื่องมือประเมินความยั่งยืนระบบอาหารและเกษตรกรรมระดับสากล SAFA ให้มีความเหมาะสม และสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้นในบริบทของสังคมไทย โดยมีผู้ให้ความสนใจ และเข้าร่วมจากหลากหลายองค์กรทั่วประเทศ

การสัมมนาเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้ผู้เข้าร่วมได้รู้ถึงที่มาของโครงการ อันเนื่องมาจากคุณอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย เล็งเห็นว่าปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความยั่งยืนขององค์กรหรือโครงการที่ทำงานขับเคลื่อนระบบอาหารและเกษตรกรรมที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้ผู้ถูกประเมินได้เห็นถึงแนวทางในการพัฒนาตนเอง ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดทำโครงการ “พัฒนาเครื่องมือการประเมินความยั่งยืนขององค์กรที่พัฒนาระบบอาหารและเกษตรกรรม” โดยร่วมกับองค์กรในห่วงโซ่อาหารและเกษตรกรรม 3 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิสังคมสุขใจ สวนสามพราน และโรงเรียนบ้านคลองใหม่ ในการร่วมพัฒนาเครื่องมือขึ้น

กิจกรรมนี้บอกเล่าถึงกระบวนการทำงานให้ได้มาซึ่งเครื่องมือ ที่ผ่านการปรับแก้ และพัฒนาผ่านการทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ที่ร่วมให้ความเห็นในการพัฒนาเครื่องมือ ได้แก่

ศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสิ่งแวดล้อม

รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐกิจ

นายปกรณ์ เลิศเสถียรชัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสังคม

นายวิฑูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล  กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน : ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านธรรมาภิบาล

รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ อาจารย์ด้านการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายชฤทธิพร เม้งเกร็ด ผู้จัดการสามพรานโมเดล

นอกจากนี้ประโยชน์ของเครื่องมือนี้ไม่เพียงเป็นการประเมินเพื่อให้เห็นข้อควรปรับปรุง หรือแนวทางการพัฒนาขององค์กรผู้ประเมิน ยังมีประโยชน์ถึงการระดมทุน และประสานงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหรือการทำงานร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่นในห่วงโซ่ได้ด้วย

ปิดท้ายด้วยการแนะนำแนวทางการใช้งานเครื่องมือ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การประเมินฟาร์ม และการประเมินห่วงโซ่ ภายใต้ 4 มิติหลัก ได้แก่ ธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยคะแนนในแต่ละตัวชี้วัดจะถูกกำหนดไว้เป็นระดับ 1-5 และคะแนนเหล่านี้จะถูกสรุปออกมาในรูปแบบของกราฟใยแมงมุมหลังจบการประเมิน เพื่อแสดงให้เห็นถึงระดับความยั่งยืนในแต่ละตัวชี้วัดของผู้ถูกประเมิน ก่อนจะปิดเวทีด้วยการเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้ถามคำถาม และเสนอแนวทางการพัฒนา และการทำงานของเครื่องมือต่อไปในอนาคต